หมู่โลหิตมีความสำคัญในการให้โลหิตแก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก แต่ละคนต่างก็มีหมู่โลหิตเฉพาะบุคล โดยทั่วไปมักเป็นที่เข้าใจว่าหมู่โลหิต มีเพียง 4 หมู่ คือ หมู่ เอ (A) หมู่ บี (B) หมู่ เอบี (AB) หมู่ โอ (O) และมีหมู่อาร์เอช (Rh) ที่แบ่งเป็น Rh+ (Rh positive) และ Rh- (Rh negative) ซึ่ง Rh- จัดเป็นโลหิตหมู่พิเศษเพราะหาได้ยากมากในคนไทย แต่ในความเป็นจริงแล้ว บนเม็ดโลหิตแดงยังมีแอนติเจนของหมู่โลหิตอีกหลายร้อยชนิด ดังนั้นการตรวจหาชนิดหมู่โลหิตของแต่ละคน เป็นเรื่องจำเป็น ทำให้เกิดประโยชน์ในด้านการช่วยชีวิตผู้ป่วย เพื่อจะได้รับโลหิตที่มีหมู่โลหิตตรงกับตนเองให้มากที่สุด เป็นการป้องกันการหาโลหิตที่เข้ากันได้ยากและสามารถช่วยชีวิตได้อย่างทันท่วงที
ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาการ ในปี พ.ศ. 2561-2565 ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาการตรวจหาหมู่โลหิตพิเศษ Rh+ (Asian-type DEL) ในผู้บริจาคโลหิตขึ้น ซึ่งผู้ที่มีหมู่โลหิตพิเศษ Rh+ (Asian-type DEL) นี้ จัดเป็นหมู่โลหิต Rh positive (Rh+) เนื่องจากมีแอนติเจน D บนผิวเซลล์เม็ดเลือดแดง แต่มีในปริมาณน้อยมากจนการตรวจในห้องปฏิบัติการทั่วไปไม่สามารถตรวจพบได้ จึงทำให้ Rh+ (Asian-type DEL) นี้ถูกระบุเป็น Rh- มาโดยตลอด ทั้งนี้ จากการตรวจหมู่โลหิต Rh+ (Asian-type DEL) ในผู้บริจาคโลหิต Rh-negative ของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ จำนวน 2,394 ราย พบว่ามีหมู่โลหิตพิเศษ Rh+ (Asian-type DEL) จำนวน 359 ราย ทั้งนี้ ผู้บริจาคโลหิตที่ได้รับการตรวจว่าเป็น Rh- ในช่วงที่ผ่านมา หากได้รับการตรวจโดยวิธีใหม่มีโอกาสถูกตรวจพบเป็นหมู่โลหิต Rh+ (Asian-type DEL)
ข้อมูลจาก รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติสภากาชาดไทย ระบุว่า การบริจาคโลหิตที่ได้รับการตรวจว่าเป็นหมู่โลหิต Rh- ในช่วงที่ผ่านมา หากท่านมาบริจาคโลหิตที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ หรือภาคบริการโลหิตแห่งชาติแล้วได้รับการตรวจด้วยวิธีตรวจแบบใหม่นี้ ท่านจะมีโอกาสถูกตรวจพบว่าเป็นหมู่โลหิตพิเศษ Rh+ (Asian-type DEL) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสำหรับผู้บริจาคโลหิตหมู่พิเศษ Rh+ (Asian-type DEL) ได้แก่
- ผู้บริจาคโลหิตจะได้บัตรผู้บริจาคโลหิตใหม่ ระบุหมู่โลหิตที่ถูกต้องเป็น Rh+ (Asian-type DEL) ซึ่งจัดว่าเป็นหมู่โลหิต Rh+ สามารถให้แก่ผู้ป่วยหมู่โลหิต Rh+ เท่านั้น
- กรณีผู้บริจาคโลหิตมีความจำเป็นต้องได้รับเลือดในการรักษา สามารถรับเลือดกลุ่ม Rh+ ได้อย่างปลอดภัย
- ผู้บริจาคโลหิตยังคงสามารถเป็นผู้บริจาคโลหิต ผู้บริจาคโลหิตเฉพาะส่วนรวมทั้งการบริจาค เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต ได้อย่างต่อเนื่อง
“ประโยชน์ของการตรวจวิเคราะห์หมู่โลหิตด้วยวิธีใหม่นี้ นอกจากจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับโลหิตที่มี ความเหมาะสมมากขึ้น ยังช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มความปลอดภัยในการรักษา จึงขอเชิญชวนผู้บริจาคโลหิตหมู่พิเศษ Rh-negative และผู้บริจาคโลหิตทุกท่าน ร่วมบริจาคโลหิต ณ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติและภาคบริการโลหิตแห่งชาติ 12 แห่งทั่วประเทศ โดยโลหิตที่ได้รับบริจาคทุกยูนิต จะได้รับการตรวจหาหมู่โลหิตพิเศษ Rh+ (Asian-type DEL) ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป” รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงดุจใจ กล่าว
เนื่องในเดือนเทศกาลแห่งวันแม่ สถานีกาชาดที่ 11 วิเศษนิยม บางแค ร่วมกับ ผู้ผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนประกอบรถยนต์และอะไหล่ยางคุณภาพสูง ภายใต้แบรนด์ “POP” ได้จัดกิจกรรม “ชลิต อินดัสทรี รวมพลังจิตอาสา บริจาคโลหิต” ปี 4 ขึ้น ภายใต้คอนเซ็ปต์ รวมพลังจิตอาสา สิงหาบริจาคโลหิต โดยมี นายชวิศ ยงเห็นเจริญ กรรมการผู้จัดการ และ นางสาวชัญญา ยงเห็นเจริญ กรรมการบริษัท นำทีมผู้บริหารและพนักงานจิตอาสาร่วมบริจาคโลหิตเพื่อต่อลมหายใจผู้ป่วยต่อไป ร่วมด้วย นางสาวจุฑารัตน์ แก้วจันทร์เพชร หัวหน้างานรับบริจาคโลหิตและพลาสมา สถานีกาชาดที่ 11 ร่วมรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมบริจาคโลหิต ซึ่งทุกคนที่มีสุขภาพดีสามารถทำได้ด้วยตนเอง และขอกระตุ้นให้ประชาชนคนไทยทั่วประเทศมาร่วมบริจาคโลหิตกันมากขึ้น ซึ่งสามารถบริจาคเลือดซ้ำได้ทุกๆ 3 เดือน
นายชวิศ ยงเห็นเจริญ บริษัท ชลิต อินดัสทรี จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนประกอบรถยนต์และอะไหล่ยางคุณภาพสูง ภายใต้แบรนด์ “POP” เปิดเผยว่า เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการณรงค์ร่วมใจกันบริจาคโลหิต จึงได้สานต่อกิจกรรม “ชลิต อินดัสทรี รวมพลังจิตอาสา บริจาคโลหิต” ปี 4 ขึ้น ภายใต้คอนเซ็ปต์ รวมพลังจิตอาสา สิงหาบริจาคโลหิต นำทีมพนักงานจิตอาสาร่วมบริจาคโลหิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ แสดงพลัง 1 ผู้ให้=หลายคนรับ และส่งต่อโลหิตที่ปลอดภัยให้ผู้ป่วย ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือวิกฤติเลือดขาดแคลน เพื่อปลูกจิตสำนึกให้กับพนักงานในการเป็น “ผู้ให้” และมีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นนโยบายที่บริษัทฯให้ความสำคัญมาโดยตลอด การบริจาคโลหิตถือเป็นการทำบุญที่ยิ่งใหญ่ช่วยต่อชีวิตต่อลมหายใจให้กับผู้ป่วยให้ได้มีชีวิตต่อไป
ดังนั้น จึงขอเชิญชวนทุกท่าน ที่ร่างกายแข็งแรง มาบริจาคโลหิตกัน เพราะการบริจาคโลหิตนอกจากจะช่วยให้ผู้บริจาคอิ่มบุญอิ่มใจแล้ว ยังมีประโยชน์โดยตรงต่อร่างกายของผู้บริจาคอีกด้วย ข้อมูลจากศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ระบุว่า การบริจาคโลหิต คือการสละโลหิตส่วนเกินที่ร่างกายยังไม่จำเป็นต้องใช้ให้กับผู้ป่วย ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริจาคโลหิต เพราะร่างกายของแต่ละคนมีปริมาณโลหิตประมาณ 17-18 แก้วน้ำ ร่างกายจะใช้เพียง 15-16 แก้วเท่านั้น ส่วนที่เหลือนั้นสามารถบริจาคให้ผู้อื่นได้ และเมื่อบริจาคโลหิตออกไปแล้ว จะมีการกระตุ้นการผลิตเม็ดเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทน ซึ่งจะส่งผลให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น นับเป็นประโยชน์ของการบริจาคเลือดที่เกิดขึ้นโดยตรงต่อร่างกายของผู้บริจาค โดยไขกระดูกจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดโลหิตใหม่ขึ้นมาทดแทน ทำให้มีปริมาณโลหิตในร่างกายเท่าเดิม โดยสามารถบริจาคโลหิตได้ทุกๆ 3 เดือน แต่หากไม่ได้บริจาค ร่างกายจะขับเม็ดโลหิตที่สลายตัวเพราะหมดอายุนั่นเอง
ขอเชิญร่วมบริจาคโลหิตได้ที่ศูนย์บริจาคโลหิตแห่งชาติใกล้บ้าน และโรงพยาบาลสาขาบริการโลหิตทั่วประเทศ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ ฝ่ายจัดหาผู้บริจาคโลหิต บางแค โทร. 0 2252 1637 (ในวันและเวลาราชการ)