Categorized | ข่าว

ชลิต อินดัสทรีฯ ชวนรักษ์เล ปล่อยปลา ฟื้นฟูคืนสมดุลระบบนิเวศท้องทะเลไทย

Posted on 17 พฤษภาคม 2021 by writer

DSC_2076_resize_resize_resize

           กระแสเที่ยวทิพย์ในยุคโควิด-19 เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงภาพอันสวยงามของท้องทะเลไทย เพราะนอกจากความสวยงามของสถานที่ บรรยากาศดี ทะเลสวยน้ำใส หาดทรายขาวเหมาะแก่การพักผ่อนจนทำให้ประเทศไทย กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวติดอันดับโลกแล้ว ความสมบูรณ์ของธรรมชาติและความสมดุลของระบบนิเวศชายฝั่งทะเล ก็มีส่วนสำคัญช่วยให้ทัศนียภาพอันสวยงามของท้องทะเลไทย มีมนต์เสน่ห์ที่น่าหลงใหลและดึงดูดใจนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ  

           แม้ว่าความสวยงามใต้ท้องทะเลไทย จะได้รับการยอมรับว่า มีความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลมากที่สุดแห่งหนึ่ง และมีความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งทรัพยากรทางทะเลอย่างมากมาย ของพันธุ์พืช และสัตว์ทะเลนานาพันธ์ แต่กระนั้น การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติก็มีมากเช่นกัน ส่งผลให้ปัจจุบันเกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ความสมดุลของระบบนิเวศชายฝั่งเริ่มเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลาและการคุกคามของฝีมือมนุษย์ ส่งผลให้สัตว์น้ำจำนวนลดน้อยลง บางสายพันธุ์อาจสูญพันธุ์ ดังที่ปรากฏอยู่ในหลายพื้นที่ชายฝั่งทะเล

DSC_2039_resize_resize_resize

           เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูระบบนิเวศให้กับท้องทะเลไทยและสานต่อนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม บริษัทชลิต อินดัสทรี จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายชิ้นส่วนประกอบรถยนต์และอะไหล่ยาง ภายใต้แบรนด์ “POP” ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งระยอง ได้จัดกิจกรรม “ชลิต อินดัสทรี รักษ์เล ปล่อยปลา คืนสู่ธรรมชาติ” เพื่อร่วมอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง  โดยมี นายชวิศ ยงเห็นเจริญ กรรมการผู้จัดการ ร่วมด้วย นางสาววิมลลักษณ์ ยงเห็นเจริญ กรรมการบริษัทฯ และ นายรัชกฤต ตันวิไลย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ นำทีมผู้บริหารและพนักงานจิตอาสาของทั้งสองหน่วยงาน ร่วมแรงร่วมใจปล่อยพันธุ์ปลากะพงขาวและพันธ์กุ้งแชบ๊วยกว่า 300,000 ตัว กลับคืนสู่ธรรมชาติ เพิ่มปริมาณสัตว์น้ำในทะเล แม้แดดจะร้อนแต่ทุกคนก็ดีใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสมดุลและฟื้นฟูระบบนิเวศทางชายฝั่งทะเล อันเป็นการแสดงถึงความห่วงใยต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ บริเวณชายหาดแม่รำพึง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งระยอง

           นายรัชกฤต ตันวิไลย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งระยอง  กล่าวว่า ระบบนิเวศทางทะเล มีความสำคัญอย่างมากต่อสมดุลโดยรวมของนิเวศบนบกและในน้ำ เป็นแหล่งที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตอีกมากมาย จึงอยากให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญและมีส่วนร่วมอนุรักษ์ธรรมชาติทางชายฝั่ง โดย

DSC_2060_resize_resize_resize

           ทางศูนย์วิจัยฯจะเป็นองค์กรกลาง ทำหน้าที่ในการวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ การผลิตและขยายพันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่งชนิดใหม่และที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์นี้รวมทั้งสัตว์น้ำที่หายากและที่ใกล้สูญพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ รวมถึงการผลิตพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติและจำหน่ายแก่เกษตรกร การให้คำปรึกษาด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น  พันธุ์กุ้งกุลาดำ กุ้งแชบ๊วย ปลากะพงขาว ปูม้า หมึกหอม หมึกกระดอง หอยหวาน และปลากะรัง  เป็นต้น

           “ตามแผนของปี 2564 ทางศูนย์ฯ จะต้องปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ไม่ต่ำกว่า 6,640,000 ตัว ได้แก่ ปลากะพงขาว 40,000 ตัว กุ้งกุลาดำ 3,000,000 ตัว กุ้งแชบ๊วย 3,450,000 ตัว หอยหวาน 120,000 ตัว และปลาหมึก 30,000 ตัว โดยที่ผ่านมาทางศูนย์ฯได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการจัดกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำกลับคืนสู่ธรรมชาติ” นายรัชกฤต กล่าว

DSC_2013_resize_resize_resize

           ทางด้าน นายชวิศ ยงเห็นเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชลิต อินดัสทรี จำกัด กล่าวว่า กิจกรรม “ชลิต อินดัสทรี รักษ์เล ปล่อยปลา คืนสู่ธรรมชาติ”  เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเพื่อสังคมของบริษัทฯ แม้จะเป็นส่วนเล็กๆ แต่บริษัทฯก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะมีส่วนช่วยรณรงค์ส่งเสริมให้พนักงานในองค์กร รวมทั้งประชาชนคนไทย มีใจรักษ์และเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคมมากยิ่งขึ้น  โดยที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ดำเนินกิจกรรมด้านการพัฒนาชุมชนและความรับผิดชอบต่อสังคมในมิติที่หลากหลายมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการศึกษา และด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การมอบทุนการศึกษา มอบทุนวิจัยสำหรับนักศึกษาวิศวะ  การมอบอุปกรณ์กีฬาให้โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล  การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพช่าง  กิจกรรมปลูกป่าชายเลน และกิจกรรมปล่อยพันธุ์เต่าคืนสู่ท้องทะเล เป็นต้น

Comments are closed.

พฤษภาคม 2021
พฤ อา
« เม.ย.   มิ.ย. »
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31  

RELATED SITES