นับเป็นความร่วมมืออย่างต่อเนื่องของหน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ สถานทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 4 (สพม.4) ซึ่งนอกจากความร่วมมือจัดโครงการอบรมวิชาการสำหรับครูและผู้บริหารโรงเรียนในสังกัดแล้ว ในปี 2562 ที่ผ่านมา หน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ และ สพม.4 ยังได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “ห้องเรียนจำลองแบบนิวซีแลนด์สัญจร” ภายใต้แนวคิด “ฝึกออกแบบสมอง ลองคิดสร้างแอพฯ” ให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา และครูผู้สอน ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 4 (สพม. 4) เพื่อสร้างประสบการณ์ด้านการศึกษาแนวใหม่ เปิดโอกาสให้นักเรียนได้สัมผัสการเรียนการสอนแบบนิวซีแลนด์ ที่มุ่งเน้นให้เด็กมีความคิดอิสระ คิดเชิงสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ และส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาศักยภาพของตัวเอง ในหัวข้อการออกแบบพัฒนานวัตกรรมผสมผสานการคิดสร้างสรรค์
โดยความร่วมมือการจัดกิจกรรมห้องเรียนจำลองแบบนิวซีแลนด์สัญจรครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นและประสบการณ์การเรียนการสอน ในบริบทประเทศนิวซีแลนด์และประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างแรงบันดาลใจในการส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง และการเตรียมความพร้อมสู่ศตวรรษที่ 21 ให้กับนักเรียน และครูผู้สอน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ส่งผลต่อผู้เรียนโดยตรงจากการปฏิบัติจริง และเป็นการเติมเต็มทักษะด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษให้แก่ครูและนักเรียนด้วย โดยการที่เราเลือกนิวซีแลนด์มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้เนื่องจากเป็นประเทศที่มีการเตรียมความพร้อมนักเรียนสู่โลกอนาคต ก้าวทันระบบเทคโนโลยีดิจทัล และมีบริบทคล้ายๆ กับบ้านเรา
ครูมาร์ค แคปสติ๊ก (Marc Capstick) จากวิทยาลัยสก็อตคอลเลจ (Scots College) เวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ เปิดเผยว่า นักเรียนทุกวันนี้เป็นประชากรดิจิทัล หมายถึงพวกเขาโตมาพร้อมกับดิจิดัลและมีความสะดวกสบายอย่างยิ่งในการเรียนรู้บนแพลตฟอร์มดิจิทัลที่หลากหลาย บทเรียนในชั้นเรียนสามารถใช้ความรู้ด้านดิจิทัลในการจัดทำหลักสูตรตามที่สนใจและสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น หมายความว่านักเรียนสามารถเรียนรู้ทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง จากความสนใจของตัวเอง และเมื่อนักเรียนมีความสุขที่ได้อยู่ในห้องเรียนก็ลดปัญหาไปได้ครึ่งหนึ่งแล้ว ส่วนบทเรียนอยู่ที่วิธีการสอนว่าจะทำอย่างไรให้น่าสนใจโดยที่นักเรียนสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ มีการใช้อุปกรณ์หรือเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยในการเรียนการสอน ซึ่งที่นิวซีแลนด์จะเน้นการเรียนการสอนแบบกลุ่ม เพื่อเน้นให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นร่วมกัน และรู้จักการทำงานเป็นทีม โดยมีครูคอยแนะนำเท่านั้น ครูจะสอนให้นักเรียนรู้จักการถามคำถาม เพื่อนำไปใช้ในการออกแบบความคิด (Design thinking)
สำหรับห้องเรียนจำลองสัญจรครั้งนี้ ผมได้สอนให้นักเรียนรู้จักกับการออกแบบความคิดในการสร้างนวัตกรรม และแอพพลิเคชั่นแบบง่าย ๆ ผ่าน 4C คือ 1) Critical thinking คิดอย่างเป็นระบบมีวิจารณญาณ 2) Creative thinking มีความคิดสร้างสรรค์ 3) Communication เมื่อคิดเป็นแล้วสามารถสื่อสารได้ และ 4) Collaboration สามารถนำความคิดนั้นไปทำงานร่วมกับผู้อื่นหรือหน่วยงานอื่นๆ ได้
ซึ่งการสร้างนวัตกรรม หรือการสร้างแอพลิเคชั่นต่างๆ จะเกิดขึ้นได้ต้องผ่านกระบวนการศึกษาข้อมูล ตั้งคำถามเพื่อนำมาคิดวิเคราะห์ ระดมความคิดในการออกแบบ ผลิต และทดลองใช้ เพื่อนำมาใช้
1.แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่พบเจอในชีวิตประจำวัน หรือสร้างความสะดวกสบาย และพัฒนาให้สังคมดีขึ้น ทำให้คนได้พัฒนาทักษะในการคิดหาวิธีการแก้ไขปัญหานั้นๆ ด้วย เช่น การสร้างเรือจากเรือจากปัญหาคูคลองน้ำตื้นเรือแล่นผ่านไม่ได้ มาเป็นเทคโนโลยีที่ใช้น้ำดันเรือเป็นต้นแบบของเรือที่แล่นในน้ำตื้นได้ในเวลาต่อมา
2.คิดนอกกรอบ เปลี่ยนสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้มันเป็นไปได้ เกิดจากความคิดใหม่ๆที่แตกต่าง ความอยากรู้อยากเห็น จนกลายเป็นความคิดสร้างสรรค์ เช่น การประดิษฐ์เชือกที่ใช้สำหรับการกระโดดบันจี้จั้มพ์ ที่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ
3.เข้าอกเข้าใจคนอื่น โดยการปรับ หรือพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ให้สามารถเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ ผ่านการทำแบบสำรวจ เช่น การสร้างเครื่องบินที่สามารถจอดในลานหิมะได้ ทำให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ห่างไกลได้
โดย ด.ช.พงศธร ปึงเจริญกุล ชั้น ม.3 ตัวแทนจากโรงเรียนเทพศิรินทร์พุแค สระบุรี บอกว่าการได้มาลองเรียนกับห้องเรียนจำลองครั้งนี้ก็รู้สึกว่าสนุกดีครับ ได้รู้จักกับเพื่อนใหม่หลายๆ โรงเรียน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยกันอย่างไม่เขินอาย ได้มาลองคิดทำแอพพลิเคชั่นในรูปแบบของเด็กๆ ก็สนุกไปอีกแบบครับ ได้พูดภาษาอังกฤษกับเพื่อนทำให้มีความกล้าพูดมากขึ้น แม้จะแอบเขินอายกันหน่อยๆ แต่ก็พยายามพูดกันครับ
ส่วน น.ส.ณิชาภัทร โพธิ์เพ็ญ ตัวแทนจากโรงเรียนสระบุรีวิทยาคม เล่าว่า การได้มาลองเรียนในแบบนิวซีแลนด์วันนี้รู้สึกสนุกมากค่ะ เวลาเรียนปกติจะไม่ค่อยถามเพราะครูพูดและอธิบายหมดแล้ว แต่ในแบบของนิวซีแลนด์ ครูจะตั้งประเด็นไว้ แล้วให้พวกเราระดมความคิดร่วมกัน กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นแล้วมาตั้งเป็นคำถาม ทำให้พวกเรามีความกล้าที่จะถามมากขึ้น ได้ฝึกการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันมากขึ้น ได้มาลองทำผลงานชิ้นเล็กๆ ร่วมกันเพื่อนต่างโรงเรียนก็ทำให้เรามีเพื่อนเพิ่มขึ้นอีก
และ นายณัฐนนท์ มหาศักดิ์พิทักษ์ ตัวแทนจากโรงเรียนปทุมวิไล จ.ปทุมธานี บอกว่า เรียนในแบบนิวซีแลนด์สนุกและตื่นเต้นดีครับ ได้ลองทำแบบจำลองแอพพลิเคชั่นเสียงสัตว์ประหลาดด้วย ในห้องเรียนทุกคนฟังภาษาอังกฤษรู้เรื่องหมดทุกอย่างเลย แต่ปัญหามันอยู่ที่ความกลัวการที่พูดครับ ผมว่าถ้าเราจะพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้สร้างนวัตกรรม การกล้าพูดกล้าถามสำคัญมาก เพื่อจะได้นำไอเดียต่างๆ มาคิดและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ และอีกอย่างเราควรพูดออกมาให้คนอื่นได้ฟังด้วย อย่าพูดอยู่คนเดียว เพราะเราจะไม่ได้แชร์ความคิดดีๆ ออกมาให้ใครฟังเลย
ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษานิวซีแลนด์ ดูได้ที่ www.studyinnewzealand.govt.nz